เบื้องหลัง ของ การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แถลงถึงภารกิจหลักของฝ่ายค้านในสมัยประชุมสามัญว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีข้อมูลที่จะอภิปรายคือเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงเรื่องถุงมือยางขององค์การคลังซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายคน[3] จากนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เปิดเผยอีกว่า พรรคฝ่ายค้านได้รวบรวมข้อมูลและประเด็นน่าสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล และสรุปหาประเด็นที่เข้าเกณฑ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเพิ่มเติม[4] ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ได้เปิดเผยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านตกลงยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 27 มกราคม และต้องการให้ฝ่ายค้านได้ใช้เวลาอภิปรายอย่างเต็มที่[5] แต่แล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ได้ยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน (จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน และอิสระอีก 3 คน) ประกอบด้วย

รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
ลำดับที่ชื่อ / ตำแหน่งประเด็นการอภิปราย[1]
1พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ล้มเหลวในการบริหารสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
  • สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง
  • ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
  • ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
  • แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน
2พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี
  • ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล
  • ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง
  • ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ล้มเหลวในการควบคุมการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่สอง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
4จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
5พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
  • ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
6ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
7สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน
  • ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
8ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดในการดำเนินกิจการของรัฐ
  • ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
9นิพนธ์ บุญญามณี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
10ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
  • ปกปิดข้อมูลความจริงในการยื่นหรือการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
  • ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
  • ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล
  • เสนอให้มีการแต่งตั้งคู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภรรยาเป็นข้าราชการการเมือง โดยไม่คำนึงถึงวุฒิภาวะและความเหมาะสม

การเตรียมการ

วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564 ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันถึงแนวทางการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเบื้องต้น โดยให้เปิดอภิปรายระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ และลงมติวันที่ 20 กุมภาพันธ์[6] จากนั้นในวันที่ 29 มกราคม ชวนก็ได้บรรจุญัตติไว้ในระเบียบการประชุม ก่อนจะประสานงานไปยังคณะรัฐมนตรีให้กำหนดวันอภิปราย ซึ่งก็ได้ข้อสรุปให้อภิปรายตามที่สภาสรุปไว้ก่อนหน้า[2] ซึ่งก่อนหน้านี้ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ได้ตรวจสอบญัตติแล้วพบถ้อยคำที่น่าจะทบทวน แต่ฝ่ายค้านตัดสินใจคงญัตติไว้อย่างเดิมทั้งหมด[7]

ผู้อภิปราย

ในการอภิปรายครั้งนี้ วิปฝ่ายค้านได้เปิดเผยสัดส่วนการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะมี ส.ส. อภิปรายทั้งหมด 38 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 15 คน, พรรคก้าวไกล 13 คน และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ๆ พรรคละ 1 คน โดย ส.ส. 1 คน สามารถอภิปรายรัฐมนตรีได้ทุกคน แต่จะอภิปรายรัฐมนตรีให้จบเป็นรายบุคคล[8]

ส่วนวิปรัฐบาลก็ได้จัดเตรียมผู้ประท้วงไว้จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน เนื่องจากในญัตติของฝ่ายค้านมีเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และพรรคพลังประชารัฐได้มอบหมายให้ ส.ส. ค้นหาข้อมูลสนับสนุนผลงานของรัฐบาลในเรื่องที่ถูกอภิปรายด้วย[9]

ใกล้เคียง

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564

แหล่งที่มา

WikiPedia: การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 https://mgronline.com/politics/detail/964000001660... https://www.sanook.com/news/8351474/ https://www.komchadluek.net/news/politic/458294 https://www.prachachat.net/politics/news-553412 https://www.prachachat.net/politics/news-600752 https://www.prachachat.net/politics/news-603892 https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news... https://www.dailynews.co.th/politics/817276 https://www.dailynews.co.th/politics/822825 https://www.khaosod.co.th/politics/news_5985552